วันศุกร์ที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2555


                                                               ครูแกร ศัพทวนิช  
ประวัติหุ่นละครเล็ก


หุ่นละครเล็ก ถือกำเนิดในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โดยครูแกร ศัพทวนิช เป็นผู้ให้กำเนิด

      ครูแกร เริ่มฝึกหัดวิชานาฏศิลป์โขน ละคร อยู่กับคณะละครของพระยาเพชรฎา ตั้งแต่อายุ 9 ปี ด้วย
พรสวรรค์ทางนาฏศิลป์ เมื่ออายุเพียง 20 ปี ก็สามารถจัดตั้งคณะละครของตนเอง โดยตระเวนไปแสดงตามที่ต่างๆ จนเมื่อสูงอายุขึ้นจึงคิดสร้างหุ่นรูปร่างอย่างคน แต่งตัวเป็นละครขึ้นชุดหนึ่งออกแสดงให้เยาวชนและประชาชนได้ชม โดยได้แบบอย่างมาจากหุ่นจีน ในวังกรมพระราชวังบวรวิไชยชาญ ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีชื่อเรียก ต่อมากรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช ได้ทรงตั้งชื่อให้ว่า "หุ่นละครเล็ก" 
      ต่อเมื่อหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 การแสดงหุ่นละครเล็กเริ่มลดน้อยลง เนื่องจากครูแกรอายุมากขึ้น และท่านได้มอบตัวหุ่นให้แก่สะใภ้ของท่านประมาณ 30 ตัว ส่วนที่เหลือนำไปทิ้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ท่า พระจันทร์ ต่อมาสะใภ้ครูแกรได้นำหุ่นละครเล็กมาให้นายสาคร ยังเขียวสด เพราะเห็นว่ามีความสามารถที่จะสืบทอดได้ แต่ตัวหุ่นชุดนั้นนายแกรได้มอบให้เมืองโบราณเก็บรักษาและได้ทำหุ่นพ่อแก่ขึ้นไว้บูชาเพื่อระลึกถึงพ่อครูแกรเท่านั้น ต่อมาในงานเฉลิมฉลอง 200 ปีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ.2525 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ติดต่อให้นายสาครไปแสดงการสาธิตการทำหัวโขนที่สวนอัมพร และได้สนใจในหุ่นละครเล็กที่นายสาครได้ทำไว้บูชา จึงได้ขอร้องให้นายสาครจัดทำหุ่นละครเล็กขึ้น และเปิดทำการแสดงอีกครั้งหนึ่ง หลังจากสูญหายไปกว่า 50 ปี หุ่นละครเล็กจึงเริ่มมีชีวิตขึ้นอีกครั้ง โดยเปิดการแสดงครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.2528 ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย โดยนายสาคร ยังเขียวสด ได้ตั้งชื่อคณะหุ่นละครเล็กว่า "หุ่นละครเล็ก คณะสาครนาฏศิลป์ ละครเล็กหลานครูแกร"


วัตถุประสงค์ของหุ่นละครเล็ก 

   เพื่อรำลึกถึงพระคุณครูและเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟูศิลปะแขนงนี้ หุ่นพ่อครูแกรที่เก็บรักษาไว้ที่เมืองโบราณขณะนี้ มีลักษณะเป็นหุ่นที่มีหัว แขน มือ เท่าแบบหุ่นหลวงหรือหุ่นใหญ่ สูงประมาณ ๑ เมตร สร้างด้วยไม้ ภายในกลวง โครงหุ่นท่อนบนทำจากกระดาษข่อย ท่อนล่างทำด้วยโครงลวด ประกอบกันด้วยกลไกที่สลับซับซ้อนต่อสายระโยงระยางสำหรับถือบังคับให้ ส่วนต่างๆ เคลื่อนไหวได้ ถ้าเป็นตัวเอกมีสายใยที่ข้อมือ ทำให้หักข้อมือและชี้นิ้วได้หากเป็นตัวตลกมือจะแข็ง


ลักษณะของหุ่นละครเล็ก


   หุ่นละครเล็กมีรายละเอียดของวิธีการทำที่แตกต่างจากหุ่นกระบอก เพราะหุ่นกระบอกมีเพียงหัวกับมือ แต่หุ่นละครเล็กเป็นหุ่นทั้งตัวที่ประกอบด้วยส่วนหัว ส่วนลำตัวและแขนขา ส่วนประกอบทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่สร้างให้หุ่นเคลื่อนไหวได้เหมือนคน หุ่นทุกตัวจะมีขนาดเท่ากันกับสัดส่วนของคน เพียงแต่ย่อขนาดลงมาให้เล็กลง



ละครเล็ก  เป็นหุ่นที่มีแขน ขา มือ เท่าแบบหุ่นหลวง สูงประมาณ 1 เมตร ข้างในกลวงเป็นโพรง โครงหุ่นท่อนบนทำด้วยกระดาษข่อย ท่อนล่างทำด้วยโครงลวดวงไว้ 2 - 3 เส้น มีสายใยอยู่ภายในลำตัว ถ้าเป็นตัวเอก จะมีสายใยที่ข้อมือด้วย ทำให้หักข้อมือและชี้นิ้วได้ ตัวตลก มีมือแข็งๆ ขยับไม่ได้ หุ่นบางตัวโดยเฉพาะตัวนาง ที่แปร๋นๆ จะมีชิ้นไม้สี่เหลี่ยมเล็กๆ 2 ชิ้น อยู่ภายในตรงคอให้คนเชิดกด เพื่อให้หุ่นยักคอได้แบบละครจริงๆ ตัวพระไม่มีชิ้นไม้ที่ว่านี้ ดังนั้นจึงได้แต่เหลียวคอซ้ายขวาตามธรรมดา ส่วนตัวตลกอ้าปากได้ ตัวหุ่นประเภทนี้ใช้ผ้ามุ้งแซมตรงคอเพื่อให้ย่นๆ จะได้อ้าปากหุบปากได้ หุ่นทุกตัวกลอกตาไม่ได้เพราะตาทำด้วยลูกแก้วแข็ง หัวโขนก็ถอดไม่ได้  แต่ตัวนางผีเสื้อสมุทรซึ่งขนาดใหญ่กว่าหุ่นทุกตัวถอดหัวได้

ขั้นตอนการทำหุ่นละครเล็ก


1.เริ่มแรกจะนำดินเหนียวมาปั้นเป็นโครงและส่วนของศีรษะ ปั้นดินเป็นรูปหุ่นว่าเราต้องการหุ่นรูปอะไร การขึ้นโครงจะคล้ายๆ กัน แต่แบ่งเป็นตัวพระกับตัวนาง และถอดลักษณะของคนมาทั้งหมด หากเป็นตัวนางก็จะเอวบางร่างน้อย หากเป็นตัวพระลำตัวจะหนากว่า
2.เมื่อปั้นเสร็จก็ใช้กระดาษปิดจากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง
3.เมื่อตัวโครงแห้งจึงผ่าเอาดินด้านในออก ภายในตัวโครงจะยึดเชื่อมด้วยลวด
4.ส่วนประกอบของแขนขาจะทำจากผ้ายัดนุ่นและมีไม้เชื่อมอยู่ตามบริเวณข้อพับต่างๆ เพื่อให้สามารถขยับได้คล้ายคนจริง
5.ชิ้นส่วนของมือ และเท้าแกะจากไม้ทองหลาง ซึ่งมีน้ำหนักเบาและแกะง่าย พร้อมกับทาน้ำยากันปลวกกันมอด
6.บริเวณลำตัวจะใช้สีพลาสติกทา เพื่อที่เวลาโดนน้ำจะได้ไม่ลอกหลุด
7.บริเวณหน้าใช้ปูนปั้นที่มีส่วนผสมพิเศษ ซึ่งสามารถปั้นได้เหมือนดินน้ำมัน เมื่อปูนแห้งก็จะนำมาทาสีแต่งลงดินสอพอง แล้วขัดด้วยกระดาษทรายจนกว่าผิวจะเรียบเนียน และมีสีที่ใกล้เคียงกับผิวหน้าคน เมื่อมีใบหน้าที่เนียนแล้วก็เริ่มแต่งหน้าแต่งตา สีที่ใช้ในการแต่งหน้าแต่งตา สีที่ใช้ในการแต่งหน้า เขียนคิ้ว วาดตา ทาปาก เป็นสีประเภทสีโปสเตอร์และสีฝุ่น ใช้พู่กันทาหลายๆ ชั้น แล้วขัดแต่งด้วยกระดาษทรายจนดูเหมือนจริง ลูกตาที่สดใสแวววาวนั้นใช้ตาแก้วที่ผ่านการขัดจนใส
8.ส่วนของมือและขาก็เช่นกันต้องขัดจนเรียบเนียน เมื่อได้ตัวหุ่นที่งามเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบ จึงนำหุ่นมาแต่งองค์ทรงเครื่องตามเรื่องราวที่จะนำเสนอว่าต้องใช้ตัวละครเป็นใครกันบ้าง


ชิ้นส่วนต่างๆของหุ่น 

                                                                     ชิ้นส่วนของหุ่น

โครงหุ่น

                                                                 การทำหน้าหุ่น

                                                           สีตกแต่งหน้าหุ่น

วัสดุที่ใช้ทำเครื่องแต่งกาย


 -  จะเหมือนกับเสื้อผ้าที่คนใช้จริง ทั้งผ้าเลื่อม ผ้าต่วน ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ผ้ายก และผ้านุ่งที่ทำจากผ้าตาดโดยหุ่นละครเล็กจะแต่งกายเหมือนโขน แบบโขนละคร เสื้อผ้าปักด้วยลูกปัด และดิ้นเลื่อม ประณีตพอสมควร เครื่องประดับมีครบครันแบบโขนละครจริงๆ ส่วนกำไลทำด้วยรักปั้นเป็นวงแล้วปิดทอง

-  เครื่องประดับต่างๆ เป็นเครื่องโขน
                                                               การปักลายเสื้อผ้าหุ่น
                                                                 ตัวหุ่นสำเร็จ

การเชิดและการแสดง

หุ่นละครเล็กเคลื่อนไหวได้เพราะคนเชิดซึ่งต้องมีความชำนาญมาก
-  หุ่นตัวพระ ยักษ์ และลิงต้องใช้คนเชิดถึง 3 คน
-  ตัวนางใช้คนเชิด 2 คน
-  ส่วนตัวตลกใช้คนเชิดเพียงคนเดียว



                                                                คนเชิดหุ่น
   
     การเชิดหุ่น ตัวหนึ่งผู้เชิดจะต้องแบ่งหน้าที่กันและจะต้องร่วมงานกันอย่างดีเยี่ยม คนที่หนึ่งจะเป็นหลักในการเชิด โดยสอดมือข้างซ้ายเข้าไปอยู่ในลำตัวละครเล็กเพื่อจับเดือยซึ่งเป็นก้านคอให้ตัวหุ่นกลอกหน้าหรือยักคอได้ ส่วนมือขวาต้องจับก้านเหล็ก (มือขวาของตัวหุ่น) ซึ่งมีลูกรอกติดอยู่เพื่อบังคับให้มือหุ่นเคลื่อนไหวได้ คนที่สองต้องใช้มือขวาของตนจับก้านเหล็กมือซ้ายของหุ่น เวลาเชิดก็ต้องทำท่าทางสัมพันธ์กับมือขวาด้วย ส่วนคนที่สามต้องใช้มือสองข้างจับเดือยที่อยู่ใต้ฝ่าเท้าของตัวหุ่น เพื่อคอยยกเท้า เปลี่ยนเท้า ซอยเท้า โดยต้องให้สัมพันธ์กับท่ารำ เทคนิคการเชิด เช่น การกล่อมตัว จังหวะ ฯลฯ ต้องใช้ความชำนาญ และประสบการณ์ของผู้เชิด 


เรื่องที่ใช้แสดงละครเล็ก
     
มักเป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เช่น พระอภัยมณี สังข์ทอง ลักษณ์วงศ์ แก้วหน้าม้า โสนน้อยเรือนงาม ฯลฯ และแสดงเรื่องรามเกียรติ์ด้วย เรื่องที่นิยมที่สุดคือเรื่องพระอภัยมณี เรื่องอื่นๆ ก็เล่นบ้างแต่น้อย บางทีเล่นเป็นตอนสั้นๆ เช่น สังข์ทอง จับตอนเจ้าเงาะกับนางรจนา บทร้องใช้บทตามวรรณคดี นายแกรแต่งเติมเองบ้าง มีต้นเสียงและลูกคู่ร้องรับ มีการบอกบทเช่นเดียวกับละครนอก เครื่องดนตรีใช้วงปี่พาทย์เครื่องห้าหรือเครื่องคู่ก็ได้ ไม่มีซออู้แบบหุ่นกระบอก ใช้เพลงสองชั้น และร่ายเป็นพื้น คนเชิดเป็นคนเจรจา ถ้าหุ่นนั้นมีคนเชิดหลายคนก็ผลัดกันเจรจาก็ได้ 

ฉากของละครเล็ก

    แบ่งเป็น 3 ตอน ตรงกลางทำเป็นฉากท้องฟ้าหรือทิวทัศน์ ส่วนซ้ายและขวาหักมุมเข้าไปทางข้างหลังโรง ทางซ้ายมือผู้ชมทำเป็นฉากป่า ขวามือเป็นฉากปราสาทราชมณเฑียร ฉากแต่ละส่วนมีประตู 2 ประตูรวมทั้งหมดมี 6 ประตูสำหรับให้หุ่นเข้าออก 
  


ตัวอย่าง การแสดงหุ่นละครเล็ก







อ้างอิง
http://www.baanmaha.com/community/thread22155.html